Select Page

วันนี้ (5 ธันวาคม 2565) พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นประธานเปิดพร้อมส่งครอบครัวในการเดินทางไปเยี่ยมกลุ่มเปราะบางจากการบังคับใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้กิจกรรมเสริมสร้างเด็ก เยาวชนและกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ ครั้งที่ ๑ โดยมีผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. พร้อมด้วยผู้อำนวยการกองส่งเสริมและสนับสนุนงานพัฒนาเพื่อความมั่นคง ตลอดจนครอบครัวและญาติฯ เข้าร่วม ณ ห้องประชุมน้อมเกล้า ศอ.บต.

ทั้งนี้ในปีงบประมาณ ๒๕๖๕ ศอ.บต.ได้เริ่มต้นฟื้นฟูความเชื่อมั่น ด้วยการจัดกิจกรรมเสริมสร้างพลังเด็กและกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ ในระหว่างวันที่ ๒๔ – ๒๙ กันยายน ๒๕๖๕ โดยกลุ่มเป้าหมายเป็นครอบครัวของกลุ่มเปราะบางที่อยู่ระหว่างการรับโทษที่ไม่มีโอกาสไปเยี่ยมญาติมาหลายปี เนื่องจากต้องมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงประกอบกับสถานการณ์โรคระบาดโควิด 19 ศอ.บต.จึงได้เปิดโอกาสให้ครอบครัวของกลุ่มเปราะบางคดีความมั่นคงจังหวัดชายแดนภาคใต้มากขึ้นและนำไปสู่การกำหนดแนวทางการขับเคลื่อนงานกระบวนการยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่านสำหรับกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ ออกเป็น ๓ ระยะ ได้แก่ระยะที่ 1. การสร้างความไว้วางใจระยะที่ ๒.การสร้างความเชื่อมั่นและระยะที่ ๓.ร่วมกันพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยสันติวิธี เพื่อให้เกิดการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้สู่สันติสุขอย่างยั่งยืน

พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า ที่ผ่านมาคนในครอบครัวต่างได้รับความรู้สึกทุกข์ใจเนื่องจากหัวหน้าครอบครัว ลูก หรือญาติขาดหายไป ขาดการใช้ชีวิตอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากันขาดการพูดคุยติดต่อสื่อสารขาดความอบอุ่นจนทำให้บางคนเกิดความเครียดในหลายปัจจัย โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายที่จะต้องใช้ในการการเดินทางและดำเนินคดีจนนำไปสู่ความขัดแย้งความเห็นต่างและความรุนแรงตามมา รัฐบาลหวังว่าจากความพยายามของทุกฝ่ายที่ดำเนินการจากใจถึงใจต้องการจะคลี่คลายและแก้ไขปัญหาที่สะสมมาอย่างยาวนานให้ดีขึ้นพร้อมนำสันติสุขกลับคืนมาโดยเร็ว

นางสาวอัญชนา หีมมิหน๊ะ หัวหน้ากลุ่มด้วยใจ เปิดเผยว่า ตามนโยบายของรัฐบาลภายใต้ยุทธศาสตร์แห่งชาติที่จะไม่มีใครทิ้งใครไว้ข้างหลังเป็นสิ่งสำคัญ ศอ.บต. ได้มีการดำเนินการเพื่อไม่ให้กลุ่มคนที่ได้ยากลำบากหรือกลุ่มเปราะบางให้ถูกละเลยโดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่อยู่ในพื้นที่ขัดแย้ง เชื่อว่าการดูแลกลุ่มคนเหล่านี้จะเป็นเกราะป้องกันไม่ให้เกิดการใช้ความรุนแรง ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างสันติภาพได้ในอนาคต สำหรับการจัดกิจกรรมนำครอบครัวหรือญาติไปเยี่ยมกลุ่มเปราะบางซึ่งเป็นการดำเนินการตามคำเรียกร้องและคำมั่นสัญญาของครอบครัวของกลุ่มเปราะบาง ทำให้ความรู้สึกที่มีในด้านลบรวมถึงช่องว่างระหว่างประชาชนและภาครัฐลดลงและสามารถเดินหน้าร่วมกันโดยปราศจากความขัดแย้งได้ต่อไป

สำหรับการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ได้รับความร่วมจากวิทยากรและพี่เลี้ยงจากกลุ่มด้วยใจ และชมรมยะลาสันติสุขรวมถึงคณะวิทยากรศิลปะบำบัดอิสระ และครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ จำนวน ๗๕ คน ตลอดจนกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ในการอนุญาตให้นำญาติของกลุ่มเปราะบางเข้าเยี่ยม ในวันที่ 8 ธันวาคม 2565 นี้ และมัสยิดกามาลุลอิสลาม(คลองทรายใน) เขตคลองสามวา กรุงเทพมหานคร ที่ให้เข้าศึกษาดูงานชุมชนด้วย

 233 total views,  1 views today