Select Page

วันนี้ (3 ธันวาคม 2565) เวลา 12.30 น. ที่ ลานตลาดของดีเขาแดง ตำบลเขาแดง อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นประธานในพิธีเปิดเทศกาลท่องเที่ยวชุมชน เส้นทางศรัทธาคูหา – เขาแดง และของดีตลาดเขาแดง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ตำบลเขาแดง อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา และเป็นการสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ โดยมีหัวหน้าส่วนราชการในพื้นที่ และประชาชนผู้ให้ความสนใจ เข้าร่วมพิธีเปิดครั้งนี้ จำนวนมาก

สำหรับบรรยากาศในวันนี้ เต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวจากพื้นที่จังหวัดสงขลา และนักท่องเที่ยวจากจังหวัดต่าง ๆ
นำคณะโดย นายอำพล พงศ์สุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ที่มาร่วมชม ชิม ช็อป และเช็คอินแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ในพื้นที่อำเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา ถือเป็นการท่องเที่ยวแบบชุมชน สามารถสัมผัสวิถีวัฒนธรรมของชาวบ้านอย่างแท้จริง

ในการนี้ พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า อำเภอสะบ้าย้อย ถือเป็นชัยภูมิที่ตั้งที่ดีที่สุดในภาคใต้ ตั้งแต่สมัยโบราณ นอกจากนี้ยังมีภูเขาและถ้ำน้อยใหญ่อยู่จำนวนมาก ทั้งยังมีพระพุทธรูปสิ่งศักดิ์สิทธิ์และภาพวาดอยู่ภายในควบคู่ไปกับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ความเป็นมา ความเชื่อ ความศรัทธาและเรื่องเล่าที่มีคุณค่า เหมาะกับการท่องเที่ยวเพื่อชมความงดงามของธรรมชาติ และเพิ่มพลังชีวิต เสริมสิริมงคลอย่างยิ่ง โดยสถานที่ที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยว ได้แก่ วัดถ้ำตลอดและถ้ำคอก ที่นี่เป็นแหล่งต้นกาแฟโบราณ และยังมีกาแฟโรบัสต้ายอดดำ
ที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ แรกเริ่มคิดว่าต้นกาแฟดังกล่าว มีอายุประมาณ 150 ปี แต่ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำเนื้อเยื้อไปตรวจสอบ อาจจะมีอายุถึงต้นละ 300 ปี ถือต้นกาแฟที่มีอัตลักษณ์ที่ดีที่สุดในภาคใต้ และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงตรัสแก่ผู้บริหาร ศอ.บต. ว่า นำต้นกาแฟโรบัสต้าในพื้นที่แห่งนี้ ซึ่งมีอัตลักษณ์เฉพาะ สายพันธุ์ย่อยกาแฟดำถ้ำคอก ที่เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย นำไปขยายพันธุ์ในบริเวณพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้เป็นพืชเศรษฐกิจและสร้างรายได้แก่ชุมชน

ด้าน นายนพพร หนูเพชร นายอำเภอสะบ้าย้อย กล่าวว่า อำเภอสะบ้าย้อย เป็น 1 ใน 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ซึ่งเป็นพื้นที่ความมั่นคงและเร่งรัดพัฒนาเพื่อเสริมสร้างสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ พืชพันธุ์ธัญญาหาร และมีศักยภาพในการท่องเที่ยวทางธรรมชาติเชิงเกษตร และวัฒนธรรม และมีลักษณะสังคมพหุวัฒนธรรม สามารถพัฒนาให้เป็นจุดหมายปลายทางใหม่ ของการท่องเที่ยวจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้อีกทั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนต่างๆ มีความเข้มแข็ง มีหน่วยงานองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนให้การสนับสนุนตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ สำหรับการพัฒนาอาชีพ เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็งเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป

ข่าว / มะซัมรี สะนิ
ภาพ / สุฮัยมี มามะ
ส่วนงานประชาสัมพันธ์ ศอ.บต. รายงาน

 370 total views,  1 views today