Select Page

นายมูหามะสุกรี มะสะนิง ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนโอรังปันตัย ตำบลตันหยงเปาส์ อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เปิดเผยถึงจุดเริ่มต้นของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนโอรังปันตัยว่า อดีตในพื้นที่ตำบลตันหยงเปา อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี มีสภาพทรัพยากรที่เสื่อมโทรม แต่ละวันชาวประมงพื้นบ้านที่มีอาชีพออกทะเลไปหาปลาจับปลากันได้ในปริมาณที่น้อยมาก ทำให้ชาวบ้านไม่มีอาชีพที่มั่นคงและไม่มีรายได้ที่เพียงพอต่อการมาจุนเจือครอบครัว ชาวบ้านในพื้นที่จึงมีแนวคิดที่จะร่วมกันอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรให้มีความอุดมสมบูรณ์ โดยได้รวมกลุ่มและร่วมมือกับทุกภาคส่วนควบคู่ไปกับงานวิจัยภายใต้วิถีชาวประมงพื้นบ้านแก้ไขปัญหาเพื่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากแต่จะต้องมองถึงสภาพแวดล้อม ภูมิปัญญา วิถีชีวิต และสิ่งที่สำคัญ คือจะต้องไม่แสวงหาผลกำไร เพื่อทำให้ชาวบ้านในพื้นที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากการนำภูมิปัญญาชาวบ้าน มาสร้างอาชีพสร้างรายได้ โดยการยกระดับปลากุเลาซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่มาเพิ่มมูลค่าที่จากเดิมปลากุเลามีราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 120 – 150 บาท แต่ปัจจุบันราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 230 – 250 บาท ทำให้ชาวบ้านมีอาชีพ มีรายได้จากการนำปลากุเลามาแปรรูปเป็นปลากุเลาเค็มคิดค้นวิธีการ โดยการนำความเค็มจากเกลือหวานจังหวัดปัตตานีมาช่วยถนอมอาหารยืดอายุอาหารให้สามารถเก็บได้นานอีกทั้งเสริมเคล็ดลับจากสภาพอากาศที่เหมาะสมต่อการแปรรูปทั้งแดดดี ลมดี ประกอบกับการดูแลเอาใส่ใจในกระบวนการผลิตทุกขั้นตอนที่จะต้องใช้ระยะเวลากว่า 30 – 45 วัน จนทำให้ได้ปลากุเลาเค็มมีรสชาติอร่อยกลมกล่อมและไม่มีสารเจือปนต่อผู้บริโภค เพื่อการสร้างความความมั่นใจและความเชื่อมั่นในเรื่องของความปลอดภัยได้อย่างแน่นอน

ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนโอรังปันตัย เปิดเผยอีกว่า ที่ผ่านมาได้มีการนำปลากุเลาไปเป็น 1 ในวัตถุดิบในการต้อนรับคณะผู้นำการประชุมเอเปคจนเกิดกระแสดราม่า ส่งผลทำให้ปลากุเลาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นที่นิยมและผู้บริโภคเกิดความต้องการที่อยากจะลิ้มลองปลากุเลากันเป็นจำนวนมาก จนทำให้กลุ่มโอรังปันตัยได้รับประโยชน์จากกระแสดังกล่าวด้วย ซึ่งหลังจากเสร็จสิ้นการประชุมเอเปคศอ.บต. จึงได้จับมือร่วมกับเชฟชุมพล หาแนวทางการรับซื้อวัตถุดิบในพื้นที่พร้อมสั่งซื้อปลากุเลาเค็มกว่า 100 ตัว รวมถึงสินค้าอื่นๆ เช่น กุ้งแห้ง ปลาหมึกแห้ง ฯลฯ เป็นจำนวนมากด้วย ภายใต้แบรนด์ของโอรังปันตัยทั้งหมด เพื่อนำวัตถุดิบเหล่านี้ไปรังสรรค์เป็นเมนูอาหารที่แปลกใหม่ แต่ยังคงหลงเหลือเสน่ห์ควาเป็นอัตลักษณ์และรสชาติเฉพาะต่อไป

ทั้งนี้จากความร่วมมือในการส่งเสริมและสนับสนุนของทุกภาคส่วนที่ขณะนี้ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างยิ่งต้องขอขอบคุณศอ.บต. ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ได้มองเห็นปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนและร่วมกันผลักดันวิสาหกิจชุมชนโอรังปันตัยแห่งนี้ให้มีสถานที่ตั้งที่เหมาะสมและถูกต้องตามมาตรฐานที่กำหนดรวมถึงยังได้ส่งเสริมด้านองค์ความรู้ทำให้กลุ่มลูกค้าและมีช่องทางการจัดจำหน่ายที่เพิ่มขึ้นด้วย สิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้นับว่าเป็นเรื่องที่ดีและเป็นความภาคภูมิใจที่สุดของพี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดปัตตานีซึ่งทำให้เห็นว่าสินค้าแปรรูปในพื้นที่ได้รับการตอบรับที่ดีและมีการขยายไปยังกลุ่มผู้บริโภคทั่วโลกเพิ่มมากขึ้นจนทำให้พี่น้องประชาชนที่มีอาชีพจับปลาหรือประมงพื้นบ้านมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและมีอาชีพมีรายได้อย่างยั่งยืน

 243 total views,  1 views today