Select Page

วันนี้ (28 พฤศจิกายน 2565) เวลา 13.30 น. ที่ โรงแรม หาดแก้วรีสอร์ท สงขลา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา สถาบันพัฒนาเจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายพลเรือนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศอ.บต. จัดกิจกรรมอบรมหลักสูตรปฐมนิเทศข้าราชการ พนักงานราชการ และพนักงานส่วนท้องถิ่น ก่อนเริ่มปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ รุ่นที่ 1 ประจำปี 2566 ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 พฤศจิกายน – 1 ธันวาคม 2565 โดยมี พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมการอบรม และร่วมพบปะ พร้อมด้วย นายสมชาย เกียรติ์ภราดร ผู้อำนวยการกองบริหารยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ นายอิบรอเหม เบ็ญนา ผู้อำนวยการกลุ่มอํานวยการและบริหาร สถาบันพัฒนาเจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายพลเรือนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศอ.บต. ตลอดจนข้าราชการที่ปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ศอ.บต. จำนวน 200 คน เข้าร่วม ภายใต้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างเคร่งครัด

ทั้งนี้ กิจกรรมอบรมหลักสูตรปฐมนิเทศข้าราชการ พนักงานราชการ และพนักงานส่วนท้องถิ่นก่อนเริ่มปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีกำหนดจัดขึ้นจำนวนทั้งหมด 3 รุ่นๆ ละ 200 คน รวม 600 คน ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐฝ่ายพลเรือนที่ปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ได้รับการบรรจุ แต่งตั้ง โยกย้าย โอน หรือช่วยราชการ ตั้งแต่ปี 2563 ถึงปัจจุบัน เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจให้เจ้าหน้าที่ของรัฐก่อนเริ่มปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีลักษณะพิเศษ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ให้ปฏิบัติงานได้บรรลุตามเป้าหมาย สอดคล้องกับศักยภาพและบริบทของพื้นที่โดยไม่สร้างเงื่อนไขใหม่ให้เกิดขึ้น

ในการนี้ พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร ได้กล่าวในขณะพบปะผู้เข้าร่วมงานว่า การปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้งนั้น ส่วนสำคัญในการสร้างความเข้าใจระหว่างประชาชนคือเจ้าหน้าที่ของภาครัฐ ซึ่งล้วนมีความสำคัญอย่างยิ่งในทุกหน้าที่ ทุกตำแหน่ง เมื่อได้รับการบรรจุใหม่ให้เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่จะต้องใช้ระยะเวลาในการปรับฐานองค์ความรู้ ข้อมูลต่างๆ ตามศักยภาพและบริบทของพื้นที่ ให้เข้าใจเรื่องราวประวัติศาสตร์ในอดีตจนถึงปัจจุบัน และเชื่อมโยงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนได้ทั้งด้านกายภาพและความรู้สึก เพื่อนำปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนมาดำเนินการแก้ไข ดังนั้น ขอให้ผู้เข้ารับการอบรมเก็บเกี่ยวประสบการณ์ และพัฒนาความรู้ และใช้เวลาตรงนี้อย่างมีคุณค่า ตลอดจนสร้างเครือข่ายให้ได้มากที่สุด เพื่อในภายภาคหน้าจะร่วมกันแก้ไขปัญหาในพื้นที่ และทำให้พี่น้องประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีภายใต้วิถีสังคมพหุวัฒนธรรมต่อไป

สำหรับบรรยากาศตลอดระยะเวลาของการเข้าร่วมกิจกรรมนั้น ผู้เข้าร่วมจะได้สร้างความรู้ ความเข้าใจมิติของประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ ขนบธรรมเนียมประเพณี แนวปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตลอดจนการสร้างการตระหนักรู้เรื่องของนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงสิทธิประโยชน์ของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ จากวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ นอกจากนี้ยังได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้รวมกลุ่มเพื่อออกแบบกิจกรรมที่ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม และนำเสนอแนวคิดวิธีการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ในมิติของพหุวัฒนธรรมอีกด้วย

 339 total views,  1 views today