Select Page

ศอ.บต. หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยเหลือนักศึกษาไทยที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบ ณ สาธารณรัฐซูดาน ด้าน เลขาธิการ ศอ.บต. เผย จะเร่งหาทางออกกับทุกภาคส่วนให้เร็วที่สุด เพื่อได้เข้าศึกษาให้จบหลักสูตร

วันนี้ (26 พฤษภาคม 2566) ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จัดประชุมหารือกับส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยเหลือนักศึกษาไทย ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สงครามกลางเมือง ณ สาธารณรัฐซูดาน โดยมีพลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นประธานการประชุม ซึ่งในที่ประชุมมี ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. จากกระทรวง / กรม ผู้อำนวยการ กอง / กลุ่มงาน ศอ.บต. ผู้แทนจากสถาบันรัชต์ภาคย์ยะลา ผู้แทนจากสถานบันการศึกษาในพื้นที่ เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมเจริญจิตต์ ณ สงขลา นอกจากนี้ยังมีผู้แทนจาก สำนักงาน กพ. ผู้แทนจากกรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ผู้แทนจากกระทรวงแรงงาน ผู้แทนจากสถาบันอุดมศึกษา ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมผ่านระบบออนไลน์ Zoom ในครั้งนี้ด้วย
 
สำหรับรายละเอียดการประชุมในครั้งนี้ มีการชี้แจงข้อมูลด้านการศึกษาของนักเรียนไทยที่เดินทางกลับจากสาธารณรัฐซูดาน ชี้แจงการสรุปปัญหา อุปสรรค ข้อเสนอแนะของนักศึกษาไทยที่เดินทางกลับจากสาธารณรัฐซูดาน และในที่ประชุมยังได้มอบหมายภารกิจที่เกี่ยวข้องดำเนินการด้านการศึกษาที่ได้รับผลกระทบความไม่สงบ ณ สาธารณรัฐซูดานอีกด้วย
 
ในการนี้ พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า การให้กำลังใจแสดงจุดยืนต่อการช่วยเหลือกลุ่มนักศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ ถือเป็นสิ่งที่ทุกหน่วยงานจะต้องเร่งให้ความช่วยเหลือ ซึ่งนักศึกษาไทยที่เดินทางกลับมาหลายคนเรียนอยู่ชั้นปีที่ 4 และกำลังจะเรียนจบการศึกษาแล้ว แต่ต้องมาประสบปัญหาต่อสถานการณ์การสู้รบที่ไม่มีท่าจะยุติ โดยสงครามกลางเมืองในสาธารณรัฐซูดานครั้งนี้ ปะทุขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางเดือนเมษายน 2566 ที่ผ่านมา และบางคนก็ตัดสินใจไม่กลับไปเรียนต่อแล้ว เพราะสถานการณ์ค่อนข้างเลวร้าย และมีอันตรายมาก นักศึกษาจึงตั้งใจจะหาที่เรียนใหม่ และจะพยายามสอบเทียบโอนหน่วยกิตกับสถาบันการศึกษาที่เปิดรองรับในประเทศไทยแทน ซึ่งที่ผ่านมา ศอ.บต. ได้ทำการสรุปผลสำรวจด้านการศึกษาของนักศึกษาไทยที่เดินทางกลับจากสาธารณรัฐซูดาน ได้จำแนกตามความประสงค์ด้านการศึกษา และด้านการประกอบอาชีพ จึงได้พบอุปสรรคในครั้งนี้ว่า นักศึกษาส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลผลการศึกษาของตนเองทางเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยได้ ไม่มีใบรับรองสถานะนักศึกษา / ผู้สำเร็จการศึกษา และเอกสารรับรองสถานะนักศึกษา / ผู้สำเร็จการศึกษาไม่ได้รับการประทับตราอย่างสมบูรณ์ เนื่องจากระบบของมหาวิทยาลัยได้รับความเสียหายจากผลกระทบของสงครามที่กำลังเกิดขึ้น จึงทำให้วันนี้ ศอ.บต. จัดประชุมเร่งด่วน เพื่อรับฟังปัญหาที่เกิดขึ้นพร้อมหารือแนวทางแก้ไขร่วมกับคณาจารย์และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องว่า เมื่อไม่สามารถกลับไปเรียนต่อที่ประเทศซูดานได้ จะมีวิธีแก้ปัญหาอย่างไร เพื่อให้นักศึกษาไทยทุกคน สามารถเทียบโอนรายวิชาได้ อย่างไรก็ตาม ศอ.บต. ยังคงเป็นศูนย์กลางทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลของนักศึกษาที่ได้รับผลกระทบทุกคน และรวบรวมเป็นรายบุคคลให้ชัดเจน เพื่อนำข้อมูลส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เป็นข้อมูลประกอบพิจารณาเทียบโอนหน่วยกิต รวมถึงสมัครงานได้ต่อไป
 
ด้าน ผศ.ดร มูหัมมัดรอฟลี แวหะมะ ผู้แทนจากคณะวิทยาการอิสลาม ม.อ.ปัตตานี กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ร่วมจัดประชุมเฉพาะกลุ่มในสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาการเทียบโอนเป็นรายบุคคล พร้อมให้ข้อมูลรายวิชาที่มีการจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรแก่นักศึกษา และให้คำปรึกษาเกี่ยวกับแนวทาง การดำเนินการเพื่อการศึกษาในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดยนักศึกษาหลายคนให้ความสนใจและต้องการเข้ามาเทียบโอนหน่วยกิตตามขั้นตอนที่มหาวิทยาลัยกำหนด โดยทางคณะวิทยาการอิสลาม ม.อ.ปัตตานี กำลังเปิดรับสมัครตั้งแต่บัดนี้ ถึงวันที่ 2 มิถุนายน 2566
 
ด้าน ผู้แทนจากสถาบันอิสลามและอาหรับศึกษา มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ กล่าวว่า ทางสถาบันอิสลามและอาหรับศึกษายินดีต้อนรับนักศึกษาไทยจากประเทศซูดาน ที่สนใจมาเทียบโอนหน่วยกิตศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย โดยเบื้องต้นทางมหาวิทยาลัยรับเทียบโอนในหลักสูตรอิสลามศึกษา สาขาวิชากฎหมายอิสลาม สาขาวิชาภาษาอาหรับ และสาขาวิชาอิสลามศึกษา ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ตรงกับประเทศอาหรับ สามารถเทียบโอนได้ทันที่
 
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากภัยสงครามระหว่างกองทัพซูดานกับกลุ่มต่อต้าน Rapid Support Force (RSF) อาจยังไม่ยุติได้ในเร็ววัน และอาจจะยืดเยื้อไปอีกนาน ซึ่งกลุ่มนักศึกษาส่วนใหญ่ที่กำลังเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยในประเทศซูดาน มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า สถานการณ์ของสงครามกลางเมืองอาจจะนำไปสู่ความแตกแยกเป็นฝักฝ่ายที่รุนแรงขึ้น และทำให้ความไร้เสถียรภาพทางการเมืองในซูดานเกิดขึ้น ดังนั้น ศอ.บต. ขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนมาแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะสถาบันอุดมศึกษาหลายแห่งที่เอื้อมมือมาช่วยแก้ไขสถานการณ์ของนักศึกษาไทยในซูดานครั้งนี้ เพื่อสานฝันมอบโอกาสของการศึกษาของกลุ่มนักศึกษาไทยในซูดานสามาถเข้าศึกษาต่อในสถานบันอุดมศึกษาในประเทศไทย

 77 total views,  3 views today

ผู้แทน ศอ.บต. ร่วมงานพิธีเปิด “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ ชุมชนบ้านตะโล๊ะ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา จัดการป่ายั่งยืน ด้วยป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง เจริญรอยตามในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อเป็นศูนย์ถ่ายทอดความรู้จากความสำเร็จของชุมชนต้นแบบ

วันนี้ (25 พฤษภาคม 2566) นางสาวเยาวภา อินชะนะ ผู้ช่วยเลขาธิการ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ร่วมต้อนรับ ดร.รอยล จิตรดอน กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในการเดินทางมาเป็นประธานเปิด “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ชุมชนบ้านตะโล๊ะ อำเภอรามัน จังหวัดยะลา” โดยมีนายจรูญศักดิ์ หมาดเท่ง นายอำเภอรามัน พร้อมด้วย คณะกรรมการเสริมสร้างและสนับสนุนความเข้าใจในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ผู้แทนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และประชาชนในพื้นที่มาร่วม
 
สำหรับชุมชนบ้านตะโล๊ะแห่งนี้ มีจุดเริ่มต้นการพัฒนาชุมชนที่ใช้ความรู้จากภูมิปัญญาชาวบ้าน และเมื่อสภาเกษตรกรจังหวัดยะลาได้พากลุ่มเยาวชนบ้านตะโล๊ะที่ขาดโอกาสทางการศึกษามาร่วมเรียนรู้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและการทำเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ ที่จัดโดยโรงเรียนพระดาบสจังหวัดชายแดนภาคใต้ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ หรือ (สสน.) กลุ่มเยาวชนจึงได้รู้จักกับเครือข่ายลุ่มน้ำปัตตานี จึงกลายมาเป็นพี่เลี้ยง และเกิดการจัดตั้งคณะกรรมการชุมชนขึ้น มาพัฒนาลำห้วยหลัก 2 ลำห้วย คือ ลำห้วยดูซงปาโจ กับ ดูซงยาฆอ ทำให้สามารถกักเก็บน้ำได้ตลอดปี
 
ปัจจุบัน กลุ่มเยาวชนได้ร่วมขับเคลื่อนการดำเนินงานพัฒนาทรัพยากรน้ำ เกิดอาชีพให้เยาวชนได้ทำการเกษตร และเพาะกล้าไม้ รวมทั้ง เกิดกลุ่มอาชีพแม่บ้านที่ดำเนินงานร่วมกับผู้นำศาสนา ขับเคลื่อนพัฒนาสังคมและศาสนา ความสำเร็จที่เห็นถึงความยั่งยืนของบ้านตะโล๊ะ คือ กลุ่มอาชีพ ที่เป็นอาชีพใหม่ และ สร้างรายได้ให้กับชุมชน ได้แก่ กลุ่มพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรแบบยั่งยืน ประกอบด้วย กลุ่มปลูกผักปลอดภัยบ้านตะโล๊ะ กลุ่มเลี้ยงปลาในสระพระราชทาน กลุ่มเลี้ยงผึ้งชันโรง และกองทุนกลุ่มสตรี ประกอบด้วย กองทุนขายอาหาร กองทุนเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ กองทุนน้ำดื่มสะอาด โดยรายได้ทั้งหมดจะนำมาพัฒนามัสยิด เป็นค่าอาหารกลางวันให้กับเด็กโรงเรียนสอนศาสนา และนำไปพัฒนาหมู่บ้าน
 
ทั้งนี้ ชุมชนบ้านตะโล๊ะ นับเป็นตัวอย่างความสำเร็จของการบริหารจัดการน้ำ ตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 จึงได้รับการจัดตั้งให้เป็น “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติจัดการน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ” ลำดับที่ 26 ให้ผู้ที่สนใจ สามารถเรียนรู้การน้อมนำแนวพระราชดำริ และแนวทางการทำงานไปปรับใช้กับพื้นที่ของตนเอง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนในท้องถิ่นต่อไป

 48 total views

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส

วันนี้ (25 พ.ค.66)เวลา 10.52 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงติดตามการดำเนินงานโครงการหมู่บ้านปศุสัตว์-เกษตรมูโนะ หมู่ 4 ตำบลโฆษิต อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส โดยมี พลอากาศเอก ชลิต พุกผาสุก องคมนตรี เลขาธิการ กปร พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ นายสนั่น พงษ์อักษร ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส นายไพโรจน์ จริตงาม นายทศพล สวัสดิสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส และผู้เกี่ยวข้องร่วมรับเสด็จฯ

สำหรับโครงการหมู่บ้านปศุสัตว์-เกษตรมูโนะ หมู่ 4 ตำบลโฆษิต อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งเป็นศูนย์สาขาที่ 3 ของศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อจัดสรรที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกร และเพื่อดำเนินการสาธิตการใช้ประโยชน์และพัฒนาพื้นที่ดินเปรี้ยวจัด และเพื่อให้เป็นหมู่บ้านตัวอย่างในการพัฒนาอาชีพด้านการปศุสัตว์ ปัจจุบัน ดำเนินงานตามพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการสืบสาน รักษา ต่อยอด เพื่อประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน โดยมี สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ หรือ สำนักงาน กปร. ให้การสนับสนุนและประสานการดำเนินงานให้เป็นไปตามแนวแผนแม่บทของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ ด้านปศุสัตว์และการเกษตร ในลักษณะการสาธิตและขยายผลไปยังเกษตรกรในพื้นที่โครงการฯ และพื้นที่โดยรอบ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ด้วยสภาพพื้นที่ในโครงการฯ ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มน้ำท่วมขัง ดินมีสภาพเป็นกรดจัด และมีอินทรีย์วัตถุมาก ชุดดินที่พบในพื้นที่ประกอบด้วยชุดดินเชียรใหญ่ และชุดดินกาบแดง /ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ จึงได้ดำเนินการปรับสภาพพื้นที่โดยการขุดคู-ยกร่อง และปรับสภาพดินให้มีความเหมาะสมในการปลูกพืช ด้วยปูน , ปุ๋ยหมัก และน้ำหมักชีวภาพ เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน /ควบคู่ไปกับการถ่ายทอดองค์ความรู้ในการบริหารจัดการพื้นที่ดินเปรี้ยวจัด ให้สามารถใช้ประโยชน์ทำการเกษตรได้

ทั้งนี้ กรมชลประทาน ดำเนินการก่อสร้างระบบคูส่งน้ำ ,คลองระบายน้ำ , ปรับปรุงและเสริมคันดินกั้นน้ำรอบโครงการโดยบนคันดินปรับเป็นผิวจราจรใช้สำหรับสัญจร และสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้า เพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่ รวมทั้งก่อสร้างถังเก็บน้ำพร้อมระบบประปา กระจายน้ำสนับสนุนกิจกรรมอุปโภคบริโภค การเลี้ยงปศุสัตว์ และการเกษตรในพื้นที่โครงการฯ

สำหรับ โครงการหมู่บ้านปศุสัตว์-เกษตรมูโนะ มีพื้นที่โครงการรวมทั้งสิ้น 1,500 ไร่ แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย พื้นที่ศูนย์สาธิตการเลี้ยงสัตว์โครงการหมู่บ้านปศุสัตว์-เกษตรมูโนะ จำนวน 516 ไร่ มีโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ 12 โรงเรือน อาทิ โคเนื้อ , แพะ , แกะ , ไก่ลูกผสมพื้นเมือง , เป็ดอี้เหลียง, เป็ดเทศ และการเลี้ยงปลาในกระชัง /นอกจากนี้ยังมีแปลงปลูกหญ้าเพื่อเป็นอาหารสัตว์ จำนวน 492 ไร่

พื้นที่จัดสรรที่ดินให้แก่เกษตรกรสำหรับเป็นที่อยู่อาศัยที่ทำกิน จำนวน 409 ไร่ /ปัจจุบันมีสมาชิก 49 ครัวเรือน 129 คน ซึ่งได้รับการจัดสรรที่ดินครัวเรือนละ 3 ถึง 6 ไร่ อาทิ แปลงจัดสรรของนายแป แลดไธสง บนที่ดิน 3 ไร่ ซึ่งได้รับการจัดสรรที่ดินเมื่อปี 2542 เริ่มจากการทำเกษตรแบบเชิงเดียว และได้พัฒนาไปทำเกษตรแบบผสมผสานจนประสบผลสำเร็จ เป็นต้นแบบและแหล่งเรียนรู้ด้านการทำเกษตรแบบผสมผสานโดยใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง / โดยมีกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การปลูกพืชผักยกแคร่ , ไม้เลื้อย , เลี้ยงปลาในกระชัง , เลี้ยงวัว , ไก่พันธุ์พื้นเมือง , เป็ดไข่ และเป็ดเทศ /ทำให้มีผลผลิตสำหรับบริโภคและจำหน่ายตลอดทั้งปี /และเมื่อปี 2565 มีรายได้ 99,790 บาทต่อครัวเรือน ทำให้ตนเองและครอบครัวมีความกินดี อยู่ดี มีรายได้ที่มั่นคง และสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

และพื้นที่ ใช้ประโยชน์ส่วนรวมของหมู่บ้าน จำนวน 575 ไร่ /ปัจจุบันเกษตรกรในพื้นที่โครงการฯ ส่วนใหญ่ปลูกไม้ยืนต้น , พืชผักหมุนเวียน , ไม้ผลผสมผสาน ร่วมกับการปลูกยางพารา และปาล์มน้ำมัน /การปศุสัตว์ และประมง ทั้งนี้ ในปี 2565 มีรายได้เฉลี่ย 213,746 บาท/ครัวเรือน

โอกาสนี้ มีพระราชดำรัสแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพระราชทานขวัญและกำลังใจ

 74 total views,  2 views today

ศอ.บต. จัดกิจกรรมพัฒนาศักยภาพบุคลากรการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ในการช่วยเหลือเยียวยาด้านจิตใจ ใน”หลักสูตรการเยียวยาแนวฟื้นฟูอำนาจผู้ประสบเหตุการณ์รุนแรง”

เมื่อวันจันทรที่ 22 พฤษภาคม 2566 เวลา 13.00 น. ณ ซีซี รีสอร์ท อำเภอละงู จังหวัดสตูล พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต.มอบหมายให้ นางนิตยา มุทามาศ ผอ.กลุ่มงานเยียวยา เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมพัฒนาศักยภาพบุคลากรการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ในการช่วยเหลือเยียวยาด้านจิตใจ ใน”หลักสูตรการเยียวยาแนวฟื้นฟูอำนาจผู้ประสบเหตุการณ์รุนแรง” โดยมีประเด็นเนื้อหาเป็นการสร้างการรับรู้ความเข้าใจของผู้ประสบเหตุการณ์รุนแรง และพัฒนาทักษะ วิธีการปฏิบัติช่วยเหลือผู้ประสบเหตุความรุนแรงและการดูแลตนเองของเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน รวมถึงการวิเคราะห์ปัญหา แลกเปลี่ยนเรียนรู้ อุปสรรคในการทำงาน การปรับปรุงวิธีการทำงานด้านการให้ความช่วยเหลือเยียวยาให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ยกระดับการปฏิบัติด้านการช่วยเหลือเยียวยาให้มีความคล่องตัว รวดเร็ว และครอบคลุม โดยรุ่นที่ 3 ระหว่างวันที่ 22 – 26 พฤษภาคม 2566 มีกลุ่มเป้าหมายประกอบด้วยเจ้าหน้าที่เยียวยา ศอ.บต. จังหวัด/อำเภอ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์หจังหวัด สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด รวมจำนวน 23 คน

 22 total views

ศอ.บต. นำบุคลากรที่เกี่ยวข้อง พัฒนาทักษะการเขียนหนังสือราชการ เพิ่มความเชี่ยวชาญให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

วันนี้ (24 พฤษภาคม 2566) ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จัดกิจกรรมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเขียนหนังสือราชการให้เกิดประสิทธิภาพ ซึ่งมีกำหนดจัดระหว่างวันที่ ๒๔ – ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๖๖ ณ ศูนย์ราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีนางสาวเยาวภา อินชะนะ ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. (กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย) เป็นประธานในพิธีเปิด ฯ พร้อมพบปะผู้เข้าร่วม ประกอบด้วยข้าราชการตำแหน่งนักจัดการงานทั่วไปและบุคลากรที่ปฏิบัติงานด้านอำนวยการและประสานงานด้านเอกสารในศอ.บต. จำนวน ๔๐ คน เข้าร่วม
 
นางสาวเยาวภา อินชะนะ ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า การพัฒนาบุคลากร ด้านการประสานงานการเขียนหนังสือราชการ โดยปกติ เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการในสายงาน ต่าง ๆ มีความจำเป็นจะต้องร่างหนังสือราชการ หนังสือโต้ตอบ เพื่อใช้ในการติดต่อราชการ และเป็นหลักฐานในการปฏิบัติราชการ แต่บางครั้งอาจยังไม่เข้าใจระเบียบและหลักการในการเขียนหนังสือราชการที่มีความถูกต้องตามระเบียบงานสารบรรณ นอกจากนั้นเมื่อต้องดำเนินงานในรูปแบบการนำเสนองานหรือเทคนิคการเขียนให้สื่อสารให้เข้าใจระหว่างผู้ส่งกับผู้รับ ยังเกิดปัญหา ซึ่งจำเป็นต้องมีการฝึกพัฒนาทักษะและหาแนวความคิดโดยนำมาปรับปรุงพัฒนา ให้เกิดความเชี่ยวชาญให้บุคลากรของ ศอ.บต. ที่เข้ารับการฝึกอบรม สามารถเขียนหนังสือราชการ หนังสือโต้ตอบ การเขียนบันทึกเสนอให้เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
 
สำหรับตลอดหลักสูตรการฝึกอบรมผู้เข้าร่วมจะได้รับเกียรติจาก คุณเบญจวรรณ พลชัย ตำแหน่ง นิติกรชำนาญการ สำนักกฎหมายและระเบียบกลาง สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี มาเป็นวิทยากรให้ความรู้แก่ผู้เข้ารับการอบรม เพื่อให้มีความเข้าใจหลักการเขียนหนังสือราชการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยงานสารบรรณ ได้อย่างถูกต้อง มีความรู้ มีเทคนิคทักษะและความสามารถในการเขียนหนังสือราชการได้เป็นอย่างดี โดยผู้เข้ารับการอบรมสามารถนำความรู้ที่ได้ไปปฏิบัติงาน ในหน่วยงานได้อย่างมี ประสิทธิภาพต่อไป

 72 total views,  1 views today

คนไทยในมาเลเซียที่มีสถานะตกหล่นทางทะเบียนราษฎร ตรวจสารพันธุกรรม DNA พิสูจน์สัญชาติไทย เพื่อเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานจากภาครัฐอย่างเท่าเทียม

เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2566 ที่ สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารู รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นประธานเปิดโครงการตรวจสารพันธุกรรม (DNA) เพื่อช่วยเหลือคนไทยในมาเลเซียที่มีสถานะตกหล่นทางทะเบียนราษฎร ประจำปี 2566 โดยมี นายบุญพาศ รักนุ้ย รองเลขาธิการ ศอ.บต. นายภาษิต จูฑะพุทธิกงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารู ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. เจ้าหน้าที่จากสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ตลอดจนเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม

ทั้งนี้โครงการนี้จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีตั้งแต่ปี 2560 และเว้นช่วงไปในปี 2563-2565 เนื่องจากเป็นช่วงการแพร่ระบาดของโรค Covid-19 และในปีนี้จัดขึ้น 2 วัน ระหว่างวันที่ 23-24 พฤษภาคม 2566 โดยเป็นความร่วมมือระหว่างกงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารู ศอ.บต. และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และมีสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย อำเภอสุไหงโก-ลก และ อำเภอตากใบเข้าร่วมด้วย ซึ่งผู้ที่เข้าร่วมตรวจสารพันธุกรรม ณ เมืองโกตาบารูในครั้งนี้มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีสถานะตกหล่นทางทะเบียนราษฎรให้ได้รับการตรวจพิสูจน์สัญชาติเพื่อทำให้คนไทยกลุ่มนี้ได้รับสถานะและมีสิทธิในการเข้ารับการบริการจากทั้งสถานกงสุลใหญ่และหน่วยงานต่างๆในประเทศไทยได้อย่างครบถ้วน

พลเรือตรี สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า ถือเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่เราขับเคลื่อนในเรื่องการตรวจสารพันธุกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาพี่น้องประชาชนที่ไร้สถานะทางทะเบียนหรือไม่มีบัตรประจำตัวประชาชนซึ่งคนกลุ่มนี้เป็นหนึ่งกลุ่มที่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระองค์ท่านทรงมีความห่วงใยคนที่อาศัยอยู่ตามพื้นที่ตะเข็บชายแดน และข้ามแดนไปยังประเทศเพื่อนบ้านเพื่อประกอบอาชีพซึ่งบางส่วนไม่มีบัตรประจำตัวประชาชนก็จะมีปัญหาในเรื่องของคุณภาพชีวิต เรื่องการศึกษาเรื่องของการรักษาพยาบาลเรื่องของสิทธิต่างๆ ทาง ศอ.บต. ร่วมกับกงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารู จึงเริ่มโครงการนี้ครั้งแรกตั้งแต่ปี 2560 ที่ เมืองโกตาบารู และพบว่าในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีพี่น้องประชาชนอีกจำนวนมากที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร หรือไม่มีตัวตนจึงได้เริ่มดำเนินการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในพื้นที่ 5 จังหวัดรวมแล้วประมาณ 2,018 คน และในครั้งนี้ก็กลับมายังเมืองโกตาบารูอีกครั้ง ถือว่าเป็นก้าวสำคัญที่จะทำให้พี่น้องเหล่านี้เป็นคนไทยที่มีสถานะหรือมีตัวตนอย่างสมบูรณ์ มีสิทธิในฐานะที่เป็นพลเมืองไทย ได้เรียน ได้ทำงาน ได้รักษาพยาบาล การขับเคลื่อนโครงการนี้เป็นโครงการที่มีคุณค่าและมีความหมายมาก เพื่อให้กลุ่มคนเหล่านี้ได้เป็นพลเมืองไทยที่มีตัวตนโดยสมบูรณ์

ด้าน นิรุสอามานี ราแด หนึ่งในผู้ที่เดินทางมาตรวจ ตรวจสารพันธุกรรม (DNA) กล่าวว่า เดินทางมาตรวจ DNA เพื่อจะทำบัตรประชาชน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมาก ถ้าไม่มีบัตรประชาชน จะทำอะไรไม่ได้เลย จะเข้าโรงพยาบาลก็ไม่ได้ เหมือนไม่มีตัวตนในสังคม หลังจากได้บัตรประชาชนแล้วจะเดินทางกลับประเทศไทยทันที จะกลับไปหางานที่ประเทศไทย ดีใจมากๆที่ทางกงสุลใหญ่ และ หน่วยงานภาครัฐได้อำนวยความสะดวก เปิดโอกาสในการตรวจ DNA เมื่อได้ยินว่าทางกงสุลมีโครงการนี้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายก็สนใจและมาทันที ขอบคุณทุกหน่วยงานที่อำนวยความสะดวกทุกขั้นตอน

ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2560 จนถึง 2566 ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีผู้เข้าร่วมตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรม 2,018 คน ดำเนินการเพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎรแล้ว 833 คน อยู่ระหว่างดำเนินการ 1,185 คนและมีผู้เข้าร่วมพิสูจน์สารพันธุกรรม ณ เมืองโกตาบารู ประเทศมาเลเซีย ตั้งแต่ปี 2560-2563 จำนวน 256 คน ดำเนินการเพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎรไปแล้ว 141 คน อยู่ระหว่างดำเนินการ 115 คน และในปี 2566 มีบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร ตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรม ณ เมืองโกตาบารู ประเทศมาเลเซีย จำนวน 98 คน

 99 total views,  2 views today